กราโนล่า

สำหรับกราโนล่า ตามที่พจนานุกรม Merriam-Webster อธิบายไว้จะหมายถึง อาหารที่มีส่วนผสมหลักเป็นข้าวโอ๊ตและมีส่วนผสมอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เช่น น้ำตาลทรายแดง ลูกเกด  มะพร้าว  และถั่ว  รับประทานเป็นอาหารเช้าหรือเป็นอาหารว่าง

ความเป็นมาของกราโนล่าเริ่มต้นในปี 1863  โดย ดร. เจมส์ เคเลบ แจ็คสัน ผสมแป้งแกรแฮมกับมันฝั่งอบ แล้วตั้งชื่อว่าแจ็กสัน กรานูลา  หลังจากนั้นไม่นาน ดร. จอห์น ฮาร์วีย์ เคลล็อกก์ ได้ทําส่วนผสมที่เรียกว่า กรานูลา ขึ้นมา

แต่ใช้ข้าวโอ๊ต  แป้งสาลี และกากข้าวโพด  แต่ต้องเปลี่ยนเพราะถูกฟ้องร้อง เคลล็อกก์จึงเปลี่ยนเป็น “กราโนล่า” เมื่อปี 1899   แต่ต่อมาก็เสื่อมความนิยมลง   จนกระทั่งปลายปี 1960 กราโนล่าก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง  และได้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 

รัฐเวอร์มอนต์กับกราโนล่า

ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น  รัฐเวอร์มอนต์กับกราโนล่าเป็นสิ่งที่คู่กัน   โดยพื้นฐานแล้วรัฐเวอร์มอนต์เป็นศูนย์รวมของการใช้ชีวิตที่เน้นสุขภาพและการรับประทานอาหารที่สะอาด  ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่กราโนล่าจะเป็นแกนในอาหารของผู้อาศัยอยู่ในรัฐแห่งนี้    รัฐเวอร์มอนต์หรือรัฐภูเขาสีเขียวเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องสิ่งแวดล้อม 

อาหารท้องถิ่นและสหกรณ์    ผลผลิตจากสหกรณ์เป็นวัตถุดิบให้ชุมชนเวอร์มอนต์มานานหลายปี   สหกรณ์ดังกล่าวมีภารกิจสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นและผู้ผลิต รวมถึงการเป็นแหล่งอาหารเพื่อสุขภาพ และเกษตรอินทรีย์   ซึ่งความนิยมในสหกรณ์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930  อันป็นผลมาจากทัศนคติเกี่ยวกับเศรษฐกิจ  การเมือง และการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับอาหารอินทรีย์  ดังนั้นกราโนล่าของเวอร์มอนต์จะใช้ส่วนผสมที่มีคุณภาพสูงตามธรรมชาติและผลิตแบบอินทรีย์  ซึ่งรวมถึงข้าวโอ๊ต  เมล็ดพืช ถั่ว  และผลไม้แห้ง ส่วนสารให้ความหวานหลักจะเป็นน้ำเชื่อมเมเปิ้ลเวอร์มอนต์   ส่วนรสชาติก็มีหลากหลายเช่น ช็อคโกแลต  ขิง แอปเปิ้ล อบเชย  นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกชนิดปราศจากกลูเตนเพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารที่หลากหลายของลูกค้า

ประโยชน์ของกราโนลา

         ประโยชน์ของกราโนล่านั้นอาจจะมีผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย  แต่ด้วยส่วนประกอบหลักๆ ที่ใช้ก็สามารถเชื่อมโยงไปยังประโยชน์ต่อสุขภาพได้มากมาย  กราโนล่าส่วนใหญ่จะอุดมไปด้วยโปรตีนและใยอาหาร โดยโปรตีนนั้นจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเช่น เกรลิน และ จีแอลพี-1 

ซึ่งส่วนประกอบในกราโนล่าที่อุดมไปด้วยโปรตีนคือ นัททั้งหลาย (อัลมอนด์  วอลนัท  เมล็ดมะม่วงหิมพานต์)  และเมล็กพืช (เช่น แฮมป์  ฟักทอง  งา)  ส่วนใยอาหารจะมาจากข้าวโอ๊ต  นัท  และเมล็ดพืช ซึ่งจะทำให้กระเพาะค่อยๆ ว่างลงอย่างช้าๆ และเพิ่มระยะเวลาการย่อย ซึ่งทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น  และอาจจะมีส่วนควบคุมความอยากอาหารได้   กราโนล่าช่วยปรับความดันเลือด ซึ่งเป็นผลจากใยอาหารที่มีอยู่มากในข้าวโอ๊ตและเมล็ดแฟล็กซ์  และจากการที่ข้าวโอ๊ตมีเบตา-กลูแคนสูง จึงช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดเลวอันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

         หลายคนอาจสับสนระหว่างกราโนล่ากับมูสลี่  สิ่งที่ทำให้อาหารสองชนิดนี้ต่างกันคือกรรมวิธีการผลิตกับวิธีรับประทาน  ทั้งคู้แม้จะประกอบด้วยธัญพืช   นัท  เมล็ดพืช  และผลไม้แห้ง  แต่มูสลี่ส่วนประกอบดังกล่าวจะไม่ผ่านการอบ เวลารับประทานมูสลี่สามารถเสิร์ฟแบบเย็น (แช่ในของเหลว) หรือร้อน (ปรุงในของเหลวที่เดือด) ในขณะที่กราโนล่าจะนำส่วนประกอบไปอบพร้อมกับสารให้ความหวานและน้ำมันเพื่อให้ส่วนผสมนั้นเข้ากัน  แล้วกราโนล่าจะเสิร์ฟแบบเย็นเสมอ โดยปกติจะใส่นมหรือโยเกิร์ต หรือแม้แต่หยิบด้วยมือใช้รับประทานเป็นของว่าง

เครดิตภาพจาก pixabay.com

#กราโนล่า #อาหารเช้าสุขภาพ #อาหารธัญพืช