ความแตกต่างของ “ยาธาตุน้ำแดง” กับ “ยาธาตุน้ำขาว”

            ในเวลาที่หลายคนเกิดอาการปวดท้องขึ้นมาอย่างกะทันหัน สิ่งแรกที่คิดได้ก็คือต้องรีบหา “ยาธาตุ” มารับประทานให้ได้ จะเป็นยาธาตุน้ำแดงหรือยาธาตุน้ำขาวก็สามารถรักษาได้หมด ขอแค่เป็นประเภทยาธาตุได้ก็พอ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าความจริงแล้วฤทธิ์ของ “ยาธาตุน้ำแดง” กับ “ยาธาตุน้ำขาว” ให้ผลลัพธ์ทางการรักษาที่แตกต่างกันนะคะ หากใช้ยาธาตุโดยไม่ดูสรรพคุณเฉพาะด้านเสียก่อนก็อาจรักษาให้หายได้ยากกว่าเดิม วันนี้เราก็จะมาอธิบายความแตกต่างของ “ยาธาตุน้ำแดง” กับ “ยาธาตุน้ำขาว”กัน เมื่อรู้แล้วก็อย่าลืมซื้อติดไว้ทั้ง 2 ขวดแล้วรับประทานในยามที่ท้องของคุณมีปัญหาให้ถูกต้องด้วยล่ะ

ยาธาตุน้ำแดง

            ยาธาตุน้ำแดง เป็นยาธาตุที่มีสีดำอมน้ำตาลเข้มข้น ตัวยาจะประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ ได้แก่ โซเดียมไบคาร์บอเนต 0.27 กรัม ,ทิงเจอร์โกฐน้ำเต้า 0.075 กรัม ,น้ำมันสะระแหน่ 0.0255 มิลลิลิตร และการบูร 0.0135 กรัม ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายของคุณสามารถขับลมในกระเพาะและลำไส้ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นเฟ้อ เนื่องจากมีกรดในกระเพาะ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความอยากอาหารและเจริญอาหารมากขึ้นได้ด้วยสำหรับผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยจนร่างกายอ่อนเพลีย ตัวการบูรในยาธาตุน้ำแดงเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ลดกรด ลดความร้อนภายในร่างกาย ทำให้ขับลมออกมาได้ดีมากขึ้น และทิงเจอร์โกศน้ำเต้ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย ส่วนโซเดียมไบคาร์บอเนตก็ช่วยลดอาการเรอเปรี้ยว ท้องอืดท้องเฟ้อได้ดีด้วย

ยาธาตุน้ำขาว

            ยาธาตุน้ำขาว เป็นยาธาตุสีขาวที่มีความข้นในตัว ตัวยาจะประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ ได้แก่ ฟีนิลซาลิไซเลต (Phenyl salicylate หรือ Salol) ปริมาณ 2 กรัม ,เอนีสออยล์ (Anise oil) ปริมาณ 0.132 มิลลิลิตร และเมนทอล (Menthol) ปริมาณ 0.176 กรัม ใช้สำหรับลดอาการปวดท้องเป็นสำคัญ แก้ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด และแน่นท้อง ช่วยรักษาอาการอักเสบของลำไส้ เป็นยาเคลือบกระเพาะได้อย่างมีคุณภาพ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในระบบย่อยอาหารที่ทำให้เกิดกรดและแบคทีเรียตัวอื่นได้ด้วยฤทธิ์ที่เป็นกลาง อีกทั้งยังช่วยขับลมได้อีกด้วย เหมาะที่จะรับประทานควบคู่ไปกับยาเม็ดฆ่าเชื้อสำหรับคนที่มีอาการปวดท้องอย่างหนัก

            ด้วยเหตุนี้ “ยาธาตุน้ำแดง” กับ “ยาธาตุน้ำขาว” จึงใช้รักษาอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารที่แตกต่างกันออกไปตามฤทธิ์และส่วนประกอบในตัวยา แต่ทั้งนี้คุณก็สามารถรับประทานคู่กันในบางกรณีที่มีอาการมากมายตามมาได้เช่นกัน

รูปภาพประกอบ

https://board.postjung.com/987662

https://pharmiliar.co.th/i

https://pharmiliar.co.th/

#การดูแลสุขภาพเบื้องต้น #รักสุขภาพ #วิธีดูแลสุขภาพ