“การผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา” ไม่ใช่ “การเปลี่ยนลูกตาใหม่”

            หากใครที่เป็นคอละครหรือซีรีย์เกาหลีก็คงจะคุ้นชินกับฉากที่ตัวละครตาบอดหรือมีปัญหาด้านจักษุทำให้ต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาซึ่งคนใกล้ชิดก็มักจะแอบนำดวงตามาให้คนที่รักและยอมสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิตจนเรียกเรตติ้งน้ำตาแตกท่วมจอได้สูงลิ่ว แทบทุกคนเราเชื่อนะว่าตัวละครที่บริจาคตาคงต้องทรมานกับการที่อยู่แบบไม่มีดวงตาแน่ ๆ แต่ช้าก่อน! คุณคงเข้าใจผิดใหญ่แล้ว เพราะการบริจาคดวงตาไม่ใช่การเปลี่ยนลูกตาใหม่นะคะ อ้าว แล้วมันยังไงกันแน่ ก็เขาเรียกมันว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา” ไม่ใช่หรือ? วันนี้เราจะมาอธิบายให้คุณได้เข้าใจกัน

การผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาคืออะไร?

            การผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา เป็นการผ่าตัดโดยใช้ส่วนประกอบหน้าสุดของดวงตามนุษย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว นั่นก็คือ “กระจกตา” โดยที่แพทย์จะทำการลอกกระจกตาของผู้บริจาคดวงตาออกและนำไปเปลี่ยนให้กับคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องดวงตาในกลุ่มคนที่ได้รับความผิดปกติของกระจกตาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ดวงตามีแผลติดเชื้อ ,กระจกตาอักเสบ หรือโรคอื่นที่เกี่ยวกับกระจกตาโดยตรงที่ทำให้มีปัญหาหนักในการมองเห็นเท่านั้น ถ้าได้รับการเปลี่ยนกระจกตาก็จะสามารถทำให้เขาสามารถกลับมามองเห็นที่ใกล้เคียงเหมือนปกติได้ จะไม่ได้ใช้การบริจาคลูกตาแบบที่หลายคนคิดกัน

ผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา

            1.ดวงตาที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนใหม่อาจมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าดวงตาของเจ้าของเองซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการเข้ากันของร่างกายด้วย เพราะหากร่างการปฏิเสธก็จะทำให้เนื้อเยื่อตามีปัญหาจนกระจกตาเกิดการขุ่นมัวและมองเห็นไม่ชัดเหมือนปกติเท่าไหร่ แต่หากร่างกายเข้ากับดวงตาได้ก็สามารถใช้ชีวิตการมองเห็นได้อย่างคนปกติ

            2.ในระยะแรกของการผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาจะต้องมีการปิดดวงตาไว้ตลอดเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพดวงตาใหม่ที่ได้รับได้ ห้ามให้ถูกแสงหรือใช้สายตาในการมองเพราะจะทำให้มีปัญหาในการมองไม่ชัดได้ ต้องรอให้พักฟื้นสักระยะแล้วแพทย์จึงจะให้เปิดผ้าปิดตาออกได้

ประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา

            การผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาหรือการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาทำให้ดวงตาที่มองไม่เห็นและได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากโรคทางกระจกตาสามารถกลับมามองเห็นได้แบบคนปกติอีกครั้ง แม้จะเป็นคนที่ตาบอดมาตั้งแต่กำเนิดก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดจนสามารถมองเห็นได้ในท้ายที่สุด  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาติดตามโรคของแพทย์ ไม่ใช่จะผ่าตัดได้ตามต้องการเลย

รูปภาพประกอบ : Pixabay

#การผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา #ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา #เปลี่ยนดวงตาคืออะไร?